วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

กล้วยบวชชี



กล้วยบวชชี
เกิดอาการอยากกิน "กล้วยบวชชี" หรือถ้าให้สุภาพขึ้นมาหน่อยก็เรียก "นารีจำศีล" ขึ้นมากะทันหัน "กุ๊กเล็ก" จึงไม่รอช้า รีบปั่นจักรยานคู่ใจแวะไปตลาดสดใกล้บ้าน หมายมั่นปั้นมือจะไปซื้อแบบสำเร็จรูปมากิน แต่เสาะหาร้านของหวานเจ้าไหนก็ไม่เจอ เจอะแต่กล้วยน้ำว้าเป็นหวีวางขายอยู่ เลยเปลี่ยนใจซื้อกล้วยกลับมาเข้าครัวทำเอง
ส่วนผสม
- กล้วยน้ำว้า ประมาณ 12-15 ลูก
- มะพร้าวขูด 1/2 กิโลกรัม
- น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาลทราย 4 ช้อนโต๊ะ
- เกลือป่น 2 ช้อนชา น้ำพอประมาณ
- น้ำปูนใสสำหรับแช่กล้วย
วิธีทำ
- เริ่มต้นด้วยการเตรียมน้ำปูนใส จะเป็นปูนขาว ปูนแดง ก็ได้ละลายในน้ำ ทิ้งไว้ให้ปูนตกตะกอน ตักเอาแต่น้ำใสๆแล้วนำกล้วยที่ปอกเปลือกผ่าซีกพอดีคำ มาแช่ในน้ำปูนใสก่อน ประมาณ 20-30 นาที เพื่อป้องกันไม่ให้กล้วยดำและช่วยให้กล้วยกรอบ
- หันมาคั้นน้ำกะทิด้วยน้ำอุ่นให้ได้หัวกะทิประมาณ 1 ถ้วยตวง และหางกะทิประมาณ 3 ถ้วยตวง เปิดเตาตั้งหม้อใส่น้ำรอสักพัก ใส่น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย เกลือป่น หางและหัวกะทิ เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้วใส่กล้วยลงไป หมั่นคนเป็นระยะ
- จะให้ดีควรชิมรสด้วย เพราะหากชอบหวานมากก็เติมน้ำตาลเพิ่มได้ หรือถ้าชอบหวานน้อยก็เติมน้ำลงไป รอจนกระทั่งกล้วยสุกน้ำข้นเข้ากัน แค่นี้ก็ได้ของหวานแบบไทยมานั่งกินแล้ว

กล้วยหอมลดหุ่น


กล้วยหอมลดหุ่น
ใครจะเชื่อ กล้วยหอมเพียง 2 ใบ ช่วยลดหุ่นให้ดูเพรียวบางได้ และกลายเป็น สูตรลดน้ำหนักสุดฮิต ที่สาวหนุ่มแดนซากุระแห่ทำตาม จนแทบแย่งชิงกันเพื่อให้ได้กล้วยหอมมาครอบครอง หวังลดน้ำหนักได้เพรียวกันถ้วนหน้า สูตรลดน้ำหนักที่ตกเป็นข่าวโจษขานเมื่อไม่นานมานี้ แนะนำให้กินกล้วยหอม 1-2 ผล พร้อมกับน้ำในอุณหภูมิห้องในมื้อเช้า ส่วนมื้อกลางวันและเย็นสามารถกินได้ตามปกติ อาจจะเพิ่มอาหารว่างตอนบ่ายสาม สิ่งสำคัญคือ งดของหวานและเข้านอนก่อนเที่ยงคืน “ในทางโภชนาการแล้ว สูตรดังกล่าวสามารถลดน้ำหนักได้จริง หากเป็นคนที่ไม่ทานอาหารเช้าเลย หรือทานอาหารเช้าที่หนักเกินไป” แววตา เอกชาวนา นักโภชนาการ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นแนล อธิบายความเป็นไปได้ กล้วยหอม 1 ลูก น้ำหนักประมาณ 100 กรัม (ไม่รวมเปลือก) จะให้พลังงาน 120 กิโลแคลอรี ในกรณีที่กินข้าวเช้าตามปกติ เช่น ข้าวมันไก่ 1 จาน ที่ให้พลังงาน 500 กิโลแคลอรี หากเปลี่ยนมากินกล้วยหอมเป็นมื้อเช้า ก็จะได้แคลอรีน้อยลง ในขณะเดียวกัน หากว่ากันตามสูตรก็จะให้กินพร้อมกับน้ำ ทำให้อิ่มเร็วขึ้น สำหรับคนที่ไม่เคยกินข้าวเช้า นักโภชนาการบอกว่า สูตรนี้ช่วยได้อย่างมาก เนื่องจากจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ให้ได้รับอาหารเช้า ซึ่งเป็นมื้อที่จำเป็นต่อร่างกายและสมอง “ในสังคมปัจจุบัน คนเร่งรีบจนไม่กินอาหารเช้าหรือดื่มเพียงกาแฟ 1 แก้ว ซึ่งส่งผลต่อระบบการเผาผลาญในร่างกาย กล้วยหอมจะถือเป็นอาหารมื้อเช้า ที่ช่วยให้ระบบการเผาผลาญทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ในกล้วย นอกจากจะมีคาร์โบไฮเดรต และไฟเบอร์ ยังมีน้ำตาลทั้งกลูโคส, ฟลุกโตส และซูโคส ที่ช่วยเพิ่มพลังกายและสมอง ให้สามารถนำไปใช้ได้เลย ทำให้นักโภชนาการมองว่า สูตรลดน้ำหนักด้วยกล้วยนี้ จะเป็นที่นิยมนานกว่าสูตรอื่น เนื่องจากเป็นสูตรที่ง่าย ราคาไม่แพง แถมยังอร่อย ทำให้คนไม่ฝืนใจกิน ในขณะเดียวกันก็สามารถใช้กับกล้วยประเภทอื่น ได้ไม่ว่าจะเป็นกล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ นอกจากรับประทานกล้วยแล้ว ข้อห้ามเกี่ยวกับของหวานและการนอน ก็เป็นปัจจัยเสริมที่ดี น.ส.แววตาชี้ว่า ของหวานเป็นอุปสรรคสำคัญในการลดน้ำหนัก ขณะที่การจัดเวลาของว่างช่วงบ่ายสามโมงก็ถือว่าดี จากเดิมที่คนไทยกินของว่างไม่เป็นเวลา ก็จะช่วยให้นาฬิการ่างกายเรียนรู้ และปรับระบบเผาผลาญในช่วงเวลานั้น ส่วนการนอนก่อนเที่ยงคืน ก็เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบเผาผลาญได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี นักโภชนาการแนะนำว่า สูตรนี้เหมาะกับคนที่ไม่รับประทานอาหารเช้า หรือรับประทานอาหารเช้าที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ผู้ที่ไม่ควรลิ้มลองคือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคไต เนื่องจากกล้วยมีน้ำตาลและโปแตสเซียมสูง ในขณะที่ผู้ที่รับประทานอาหารเช้าเพื่อสุขภาพอยู่แล้วก็ไม่จำเป็น อาทิเช่น คอร์นเฟลกกับนม, ข้าวกับแกงจืดตำลึง หรือ ข้าวกับไก่ผัดขิง เป็นต้น ในขณะเดียวกัน สูตรลดน้ำหนักนี้ก็ไม่เหมาะกับเด็กวัยเรียน เนื่องจากเด็กวัยนี้ต้องการโปรตีนในช่วงเช้าเพื่อเป็นแหล่งพลังงานระหว่างวัน โดยนักโภชนาการแนะว่า หากต้องการลดน้ำหนัก อาจจะปรับสูตร เช่น กล้วยกับหมูปิ้ง กล้วยกับไข่ต้ม หรือกล้วยกับชีสแบบไขมันต่ำ นักโภชนาการยังบอกด้วยว่า ไม่เฉพาะแต่กล้วยที่สามารถนำไปใช้เป็นสูตรลดน้ำหนักได้ ผลไม้อื่นก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยดูจากผลไม้ที่ไม่หวานมาก ไม่หนักแป้ง และกินได้ง่าย เช่น แอ๊ปเปิ้ล แคนตาลูป หรือแตงโม เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ก็ควรหลีกเลี่ยงทุเรียน, ขนุน ที่หวานจัดหรือผลไม้ที่เป็นกรดเช่น สับปะรด “สิ่งสำคัญที่ต้องย้ำเตือนทุกคนคือ กล้วย 1 ใบ ไม่ใช่อาหารมหัศจรรย์ที่จะทำให้คนเราผอมสวย สุขภาพดี เนื่องจากเป็นอาหารที่ไม่ครบ 5 หมู่ แต่กล้วยจะเป็นจุดเริ่มต้น ให้คนหันมารับประทานอาหารเช้าซึ่งเป็นมื้อสำคัญ และเพิ่มสารอาหารให้ครบ 5 หมู่ในมื้ออื่นของวัน และต้องออกกำลังกายให้สมดุลกับอาหารที่กินเข้าไปในแต่ละวัน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพที่ดีต่อไป” น.ส.แววตา นักโภชนาการกล่าวทิ้งท้าย

เปลือกกล้วยหอมลดส้นเท้าแตก



เปลือกกล้วยหอมลดส้นเท้าแตก
ใครที่กำลังประสบกับปัญหาส้นเท้าแตกฟังทางนี้ วันนี้เรามีวิธีรักษาส้นเท้าแตกด้วยเปลือกกล้วยหอมมาฝาก…
ปัญหาส้นเท้าแตกส่วนใหญ่ มักเกิดจากรองเท้าแตะแบบหนีบ หรือรองเท้าเปิดส้น เพราะการที่ใส่รองเท้าพวกนี้เป็นเวลานานๆ ผิวหนังตรงบริเวณส้นเท้าจะถูกเสียดสี จึงทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นค่อยๆ แข็งและหนาขึ้น จนทำให้เกิดการแห้งแตกในที่สุด
- วิธีรักษา คือ เริ่มจากการทำความสะอาดเท้าให้เรียบร้อย จากนั้นนำเปลือกกล้วยหอมมาถูตรงบริเวณส้นเท้าที่แตก ถูไป – มา แล้วทิ้งไว้ประมาณ 10 – 15 นาที และล้างออกด้วยน้ำสะอาดเสร็จแล้ว เช็ดให้แห้งพร้อมกับทาครีมบำรุงส้นเท้า วิธีนี้ควรจะทำอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 – 3 ครั้ง
รู้อย่างนี้แล้ว ลองนำวิธีที่แนะนำไปรักษาอาการส้นเท้าแตกกันดูได้
แค่ถูไป-มา รักษาผิวหยาบกระด้างได้

การแปรรูปของกล้วย

การแปรรูปกล้วย โดย รองศาสตราจารย์เบญจมาศ ศิลาย้อย เมื่อปลูกกล้วยกินกันมากขึ้น ผลผลิตกล้วยที่ไม่ได้ขนาดตามที่ต้องการอาจจะเหลือทิ้ง ดังนั้นเพื่อไม่ให้ไร้ประโยชน์ จึงควรนำมาแปรรูป เพื่อให้เก็บได้นานขึ้น อีกทั้งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตด้วย

การแปรรูปจากกล้วยดิบ
การแปรรูปจากกล้วยสุก

การแปรรูปจากกล้วยดิบ
1. การทำกล้วยอบเนย กล้วยฉาบ หรือ “กล้วยกรอบแก้ว” ใช้กล้วยดิบ เช่น กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยหักมุก นำ มาฝานบางๆ ตามยาว หรือตามขวาง อาจจะผึ่งลมสักครู่ หรือฝานลงกระทะทันทีก็ได้และทอดในกระทะที่ใส่น้ำมันท่วม เมื่อชิ้นกล้วยสุกจะลอย ก็ตักขึ้นและซับน้ำมันด้วยกระดาษฟาง จากนั้นอาจนำไปคลุกเนย เรียกว่า กล้วยอบเนย หรือฉาบให้หวานด้วยการนำไปคลุกกับน้ำตาลที่เคี่ยวจนเกือบแห้งในกระทะ เรียกว่า กล้วยฉาบ หรือนำไปคลุกในน้ำเชื่อม แล้วเอาลงทอดอีกครั้งอย่างรวดเร็ว เรียกว่า กล้วยกรอบแก้ว 2. แป้งกล้วย นำกล้วยดิบมานึ่งให้สุก ปอกเปลือก หั่น และอบให้แห้งแล้วบดให้ละเอียดเป็นแป้ง ใช้ทำขนมกล้วยและบัวลอย หรือผสมกับแป้งเค้กใช้ทำคุกกี้ได้ ทำให้มีกลิ่นหอมของกล้วย
กล้วยฉาบ แปรรูปจากกล้วยดิบ

การแปรรูปจากกล้วยสุก
1. น้ำผลไม้ นำเนื้อกล้วยที่สุกมาหมักใส่เอนไซม์เพกทิโนไลติก (pectinolytic) ความเข้มข้น 0.01 % เพื่อย่อย และบ่มไว้ที่อุณหภูมิ 45 องศาเซลเซียส นาน 1 ชั่วโมง จะได้น้ำกล้วยที่ใส
2. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น ยูกันดา รวันดา บุรุนดี คองโก และแทนซาเนีย นิยมนำกล้วยมาทำเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ต่ำ ในประเทศยูกันด เรียกเครื่องดื่มชนิดนี้ว่า วารากิ (Waragi) ประเทศฝรั่งเศสนำเนื้อกล้วยสุกบดเหลวผสมกับน้ำ และทำให้ร้อน 65-70 องศาเซลเซียส นาน 1 ชั่วโมง แล้วทำให้เย็นลงที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ต่อมาใส่เอนไซม์เพกทิเนส (pectinase) ทิ้งไว้นาน 24 ชั่วโมง ภายใต้บรรยากาศที่เพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ นำส่วนที่เป็นกากมาบด แล้วนำส่วนที่เป็นน้ำมาหมักด้วยเชื้อ Saccharomyces cerevisiae ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ภายใต้บรรยากาศที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ หรือไนโตรเจน จะได้สุราผลไม้ที่ทำจากกล้วย
3. กล้วยตาก (banana figs) นำกล้วยที่สุกงอมมาปอกเปลือก และนำไปตากแดด 1-2 แดด จากนั้นมาคลึงเพื่อให้กล้วยนุ่ม แล้วนำไปตากอีก 5-6 แดด หรือจนกว่ากล้วยจะแห้งตามต้องการ (ในทุกๆ วันที่เก็บให้นำกล้วยทั้งหมดมารวมกัน น้ำหวานจากกล้วยจะออกมาทุกวัน และกล้วยจะฉ่ำ แล้วนำไปตากแดด) ระวังอย่าให้แมลงวันตอม ส่วนการตากอาจใช้แสงอาทิตย์ หรือเตาอบขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือไฟฟ้า
4. กล้วยกวน นำกล้วยสุกงอมมายี แล้วเคล้ากับน้ำตาลและกะทิ นำไปกวนในกระทะที่ไม่เป็นสนิม กวนที่ไฟอ่อนๆ จน สุกเหนียว ปั้นเป็นก้อนกลม หรือสี่เหลี่ยมแล้วห่อด้วยกระดาษแก้ว
5. ทอฟฟี่กล้วย คล้ายกล้วยกวน แต่ใส่แบะแซ จึงทำให้แข็งกว่ากล้วยกวน
6. ข้าวเกรียบกล้วย ใช้กล้วยสุกผสมกับแป้งและเกลือ อาจเติมน้ำตาลเล็กน้อยนวดแล้วทำเป็นแท่งยาวๆ นึ่งให้สุก เมื่อสุก ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น ฝานเป็นชิ้นบางๆ ตากแดดให้แห้ง แล้วนำมาทอดรับประทานเป็นอาหารว่าง ข้าวเกรียบกล้วยนี้หากใช้กล้วยที่มีกลิ่นจะทำให้หอม กล้วยนอกจากนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว คนไทยยังนำผล ปลี และหยวกกล้วยมาทำอาหารทั้งคาวและหวานอีกด้วย เช่น กล้วยเชื่อม ขนม กล้วย ข้าวต้มผัด แกงเลียงหัวปลี ยำหัวปลี ทอดมันหัวปลี และแกงหยวกกล้วย กล้วยจึงเป็นพืชที่คนไทยคุ้นเคยและใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของกล้วยได้นานัปการ

ความเชื่อเกี่ยวกับกล้วย



ความเชื่อเกี่ยวกับกล้วย
- นางพรายตานี
เชื่อกันว่า นางพรายตานี เป็นผีที่อาศัยอยู่ในต้นกล้วยตานีเป็นผีผู้หญิง หน้าตาสวยงาม ผิวขาวมักจะปรากฏให้เห็นตอนกลางคืนโดยจะออกมายืน หรือนั่งเล่นอยู่ใต้ต้นกล้วยตานี มีข้อสังเกตุว่า ต้นกล้วยที่มีนางพรายตานีสิงอยู่มักจะมีลำต้นสะอาด ไม่มีกาบแห้ง ใบของกล้วยจะเขียวสดใส และบริเวณรอบต้นกล้วยก็จะสะอาด โล่งเตียน
- กุมารทองตานี
กุมารทองตานี ได้มาจากปลีกล้วยตานี ซึ่งแทนที่จะแทงปลีออกจากยอดบนสุดของต้นกล้วย แต่กลับแทงปลีออกมาจากลำต้น เชื่อกันว่า ปลีกล้วยชนิดนี้จะมีกุมารทองสิงสถิตอยู่ หากผู้ใดนำไปเลี้ยงดูแลรักษาให้ดีจะทำคุณให้แก่ผู้นั้น เช่นเดียวกับกุมารทองในเรื่องขุนช้างขุนแผนทีเดียว
- งูแพ้เชือกกล้วย
เชื่อสืบต่อกันมาว่า เชือกกล้วยที่ทำจากกาบกล้วยตากแห้ง ถ้าทำเป็นบ่วงคล้องคองู หรือนำมามัดงู จะทำให้งูตัวอ่อนและหมดแรง ยอมให้ลากไปไหน ๆ ได้โดยดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งูเขียว กับงูเหลือม ซึ่งก็ไม่ทราบสาเหตุเหมือนกันว่า ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? แต่บอกไว้ก่อนนะว่าเรื่องนี้ไม่ขอรับประกัน อย่าเที่ยวทดลองสุ่มสี่สุ่มห้า ก็แล้วกัน ประเหมาะ เคราะห์ร้าย จะถูกงูกัดตายโดยไม่รู้ตัว
- กินกล้วยแฝดจะได้ลูกแฝด
เรื่องนี้เป็นที่เกรงกลัวของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์กันมาก เพราะถูกผู้ใหญ่ปลูกฝัง และสืบทอดกันมาว่าเวลาท้อง ถ้ากินกล้วยแฝดแล้วลูกออกมาจะเป็นลูกแฝด ผู้หญิงส่วนใหญ่ ที่ไม่อยากมีลูกแฝดจึงพยายามหลีกเลี่ยงไม่ยอมกินกล้วยแฝดกัน
- กล้วยเป็นยาอายุวัฒนะ
มีความเชื่อที่ว่า ถ้านำกล้วยแช่น้ำผึ้ง ใส่ไห ใช้ปูนแดงทาแล้วเอาฝาปิดให้ดี จากนั้นก็นำไปวางไว้ใต้ฐานพระพุทธรูปในว้นเข้าพรรษา ทิ้งไว้ 3 เดือน จนถึงวันออกพรรษาถ้านำมารับประทาน จะเป็นยาอายุวัฒนะ รับประทานแล้วจะมีอายุยืนยาว และเสริมพลังด้วย ไม่มีหลักฐานระบุ นอกเหนือจากที่ว่า ถ้านำกล้วยมาแช่น้ำผึ้ง แล้วไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน จะได้ผลเหมือนกันหรือไม่ แต่ก็น่าทดลองทำนะ

ผลผลิตจากกล้วย

ผลผลิตจากกล้วย
กล้วยเป็นอาหาร
จะผิดไหมนะ ถ้าพูดว่า "คนไทยทุกคนรู้จักกล้วย" หรือ "คนไทยทุกคนเคยกินกล้วย"คิดว่าคงไม่ผิด นัก อย่างมากก็ถูกไม่หมด
กล้วยที่พูดถึงอยู่นี้ หมายถึง พืชชนิดหนึ่ง จำพวกต้นเป็นกาบหุ้มแก่น ซึ่งเรียกว่า หยวกใบแบนยาว ดอกเป็นปลี รูปยาวเป็นวง เป็นพืชที่เราได้รับประโยชน์จากแทบทุกส่วนของมัน ไม่ว่าจะเป็น ต้น กาบ ก้าน ใบ ปลี ผล และแม้กระทั่งยางกล้วย จะเว้นอยู่ก็แต่ ราก และเหง้าเท่านั้น
- คน นอกจากกินทุกส่วนของกล้วยเป็นอาหารเช่นเดียวกับช้างแล้ว คนยังนำส่วนต่าง ๆ ของกล้วย มาใช้ ประโยชน์ต่าง ๆ อีกมากมาย
- ต้นกล้วย หรือหยวกกล้วย หรือกาบกล้วย ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น แกงกะทิ แกงเลียง แกงป่า ผัดเผ็ด ห่อหมก เป็นต้น
- ก้านกล้วย เมื่อปลอกเปลือกนอกที่แข็งและเหนียวออกแล้ว จะได้ไส้ในที่อ่อนนุ่มเป็นรูพรุนดั่งฟองน้ำ มีรสหวานนิด ๆ นำไปหั่นละเอียดใส่เป็นส่วนผสมของอาหารจำพวก ลาบ ลู่ ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณ และรสชาติ ได้เป็นอย่างดี
- ใบกล้วย หมายถึง ใบอ่อน ส่วนที่ฝังอยู่ใจกลางลำต้นกินสด ๆ หรืออาจจะลวกให้นิ่ม จิ้มน้ำพริกกิน กับข้าวอร่อยดีนัก
- ปลีกล้วย หลายท้องถิ่นนำมาจิ้มน้ำพริกกินกับข้าว ทั้งในรูปผักสด และผักต้ม บางถิ่นนำมาหั่น ให้ฝอย เป็นผักเคียงกินกับขนมจีน หรือหมี่กะทิ ในขณะที่หลายท้องถิ่นนำไปประกอบอาหาร ประเภทยำ และประเภทต่าง ๆ
- ผลกล้วยดิบ เรานำกล้วยดิบไปประกอบอาหาร ทั้งอาหารคาว และหวาน อาหารคาว เช่น กล้วยลูกอ่อนต้ม เป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือหั่นเป็นแว่นบาง ๆ ดองเป็นผักจิ้ม ทำส้มตำกล้วย ทำแกงเผ็ด เครื่องเคียงแหนมเนือง เป็นต้น อาหารหวาน เช่น กล้วยลูกโตพอสมควรนำมาต้มแล้วปลอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นโรยมะพร้าวขูด และน้ำตาล หรือนำมาฝานบาง ๆ ทำเป็นกล้วยฉาบ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นกล้วยที่ห่ามแล้วก็นำไปทำกล้วยปิ้ง กล้วยเผา กล้วยทับ ฯลฯ
- ผลกล้วยสุก นอกจากเรากินกล้วยสุกในฐานะผลไม้อย่างดีชนิดหนึ่งแล้วเรายังนำกล้วยสุก ไปประกอบ หรือทำเป็นอาหารหวานชนิดต่าง ๆ ได้สารพัด เช่น กล้วยบวชชี กล้วยเชื่อม กล้วยแขก ข้าวเม่าทอด ข้าวต้มผัด กล้วยกวน ขนมกล้วย เป็นต้น นอกจากนี้อาจทำเป็นกล้วยคืนรูปโดยนำกล้วยสุก ไปลวกน้ำร้อน แล้วนำไปตากให้แห้ง เก็บไว้นาน ๆ เมื่อต้องการใช้ก็นำมาลวกน้ำร้อนอีกครั้งจะคืนสภาพ เหมือนกล้วยสุก ทั่วไป นำไปประกอบอาหารได้ตามวัตถุประสงค์
กล้วยกับการนำมาใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ
- ต้นกล้วย ใช้ประโยชน์โดยตรงได้หลายอย่าง เช่น นำมาเสียบเรียงติดต่อกันหลาย ๆ ต้น ทำเป็นแพล่องไปในน้ำได้สบาย ๆ หรือไม่ก็ให้เด็กใช้ในการฝึกว่ายน้ำ ในค่ายมวยหลายแห่งใช้ต้นกล้วยที่ตัดเครือแล้ว มาให้นักมวยฝึกซ้อมต่างกระสอบทรายไม่ว่าจะเตะ ต่อย ตีศอก ตีเข่า ได้ทั้งนั้น ในภาคอีสานหลายจังหวัดใช้ต้นกล้วยผูกเชือกหัว-ท้าย ลากในแปลงนาให้ผิวหน้าดินเรียบในการไถคลาดก่อนการหว่านกล้า บางแห่งใช้ต้นกล้วย และกาบกล้วยสด มาสลักหรือที่เรียกว่า การแทงหยวกประดับหีบศพ หรือเมร

กาบกล้วย นอกจากนำไปฉีกเป็นเส้นตากให้แห้งทำเป็นเชือกที่เรียกว่า เชือกกล้วย ใช้มัดสิ่งของต่างๆ แล้วอาจนำมาสาน หรือถักทอ ประดิษฐ์เป็นของใช้ของตกแต่ง หรือของเล่นชนิดต่าง ๆ ได้ ผลกล้วย กล้วยน้ำว้าสุก ฝานบาง ๆ ใช้ปิดรูรั่วหลังคาสังกะสี ทนเป็นปี ดีนักแล
- ใบกล้วย (ใบตอง) ทั้งใบตองสดหรือใบตองแห้งนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย ใบตองสด สามารถนำมาทำกระทง บายศรี หรือนำมาห่อขนมต่าง ๆ หรือนำมารีดให้แห้งเพื่อนำมาใช้มวนบุหรี่สูบ

กล้วยไข่



กล้วยไข่
กล้วยไข่เป็นผลไม้ที่นิยมผู้บริโภคกันทั่วไป เนื่องจากมีรสชาติดี ลักษณะการเรียงตัวของผลและสีผลสวยสะดุดตา ปัจจุบันส่งออกจำหน่ายต่างประเทศมากขึ้น ตลาดที่สำคัญคือ จีน และฮ่องกงกล้วยไข่เป็นพืชที่สามารถปลูกได้แทบทุกภาคของประเทศ ในพื้นที่ปลูกที่มีการจัดการการผลิตเพื่อให้ได้ทั้งปริมาณ และผลผลิตตรงตามมาตรฐานคุณภาพ ตลาดต้องการ ปัญหาสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพของผลผลิตคือ การปนเปื้อนของ สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาต่อสุขอนามัยของผู้บริโภค ตลอดจนการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมในระยะยาว ดังนั้นกระบวนการผลิตจึงต้องมีการปฏิบัติอย่างถูกต้องและเหมาะสม
แหล่งปลูกที่เหมาะสม
สภาพพื้นที่
พื้นที่ดอน หรือพื้นที่ราบ ไม่มีน้ำท่วมขัง
- ความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,200 เมตร
- มีแหล่งน้ำธรรมชาติ หรืออยู่ในเขตชลประทาน
- การคมนาคมสะดวก
ลักษณะดิน
- ดินร่วน, ดินร่วนเหนียว หรือดินร่วนปนทราย
- มีความอุดมสมบูรณ์สูง ระบายน้ำดี
- ระดับน้ำใต้ดินลึกมากกว่า 75 เซนติเมตร
- ค่าความเป็นกรดด่างของดินระหว่าง 5.0-7.0
สภาพภูมิอากาศ
- อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต ระหว่าง 25-35 องศาเซนเซียส
- ปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,200 มิลลิเมตรต่อปี
- ไม่มีลมแรงพัดผ่านเป็นประจำ
- มีแสงแดดจัด
แหล่งน้ำ
- มีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูปลูก-
- เป็นแหล่งน้ำสะอาด ค่าความเป็นกรดด่างของน้ำระหว่าง 5.0-9.0
พันธุ์
กล้วยไข่มี 2 สายพันธุ์ คือ กล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร และกล้วยไข่พระตระบอง พันธุ์ที่นิยมปลูกเป็นการค้าคือ กล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร
1. กล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชรลักษณะกาบใบเป็นสีน้ำตาลหรือช๊อกโกแลต ร่องก้านใบเปิดและขอบก้านใบขยายออก ใบมีสีเหลืองอ่อน ไม่มีนวล ก้านเครือมีขนขนาดเล็ก ผิวเปลือกผลบาง ผลเล็ก เนื้อมีสีเหลือง รสชาติหวาน
2. กล้วยไข่พระตะบองลักษณะกาบใบเป็นสีน้ำตาลปนดำ สีของใบเข้มกว่าสายพันธุ์กำแพงเพชร รสชาดจะออกหวานอมเปรี้ยว และผลมีขนาดใหญ่กว่ากล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร
การปลูก
การเตรียมดิน
- วิเคราะห์ดิน เพื่อประเมินค่าความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารพืชในดิน และความเป็นกรดด่างของดิน ปรับสภาพดินตามคำแนะนำก่อนปลูก
- ไถพรวน ตากดินทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน เพื่อลดการระบาดของศัตรูพืช
- คราดเก็บเศษวัชพืชออกจากแปลง
ฤดูปลูก
- ช่วงเวลาการปลูก ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ประมาณเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน
วิธีการปลูก
- ปลูกด้วยหน่อใบแคบที่มีความสมบูรณ์ดี
- เตรียมหลุมปลูกขนาด 50x50x50 เซนติเมตร
- รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกอัตรา 5 กิโลกรัมต่อหลุม คลุกเคล้ากับหน้าดินรองก้นหลุมปลูกถ้ามีการไว้หน่อ เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตต่อไปอีก 1-2 รุ่น ควรรองก้นหลุมด้วย หินฟอสเฟต อัตรา 100-200 กรัม/หลุม
- ระยะปลูก (1.5-1.75) x2 เมตร เป็นการปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตเพียงครั้งเดียว แล้วรื้อปลูกใหม่ 2x2 เมตรเป็นการปลูกสำหรับไว้ตอหรือหน่อ (ratoon) เพื่อที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตของหน่อ (ratoon) อีก 1-2 รุ่น
- การปลูก วางหน่อพันธุ์ที่หลุมปลูกให้ลึก 25-30 เซนติเมตร โดยจัดวางหน่อพันธุ์ให้ด้านที่ติดกับต้นแม่อยู่ในทิศทางเดียวกัน กลบดินลงหลุมปลูกและกดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
การดูแลรักษา
การพรวนดิน
- ภายหลังปลูกกล้วยไข่ประมาณ 1 เดือนควรรีบทำการพลิกดินให้ทั่วทั้งแปลงปลูก เพื่อให้ดินเก็บความชื้นจากน้ำฝนไว้ให้มากที่สุด และเป็นการกำจัดวัชพืชไปด้วย ขณะที่รากกล้วยยังขยายไปไม่มากนักการ
กำจัดวัชพืช
- ควรกำจัดวัชพืชปีละ 3 ครั้ง ครั้งแรกพร้อม ๆ กับการพลิกดิน ส่วนครั้งที่ 2 และ 3 ให้พิจารณา จากปริมาณวัชพืช แต่จะทำก่อนที่ต้นกล้วยตกเครือ
การให้ปุ๋ย
- ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 1 ครั้ง เช่น ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักก่อนปลูกอัตรา 3-5 กิโลกรัมต่อหลุม ใส่ปุ๋ยเคมี 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 และ 2 เป็นระยะที่กล้วยมีการเจริญเติบโตทางลำต้น ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 20-10-10 หรือ 15-15-15 อัตรา 125-250 กรัมต่อต้นต่อครั้ง หลังจากปลูก 1 และ 3 เดือน การให้ปุ๋ยเคมีครั้งที่ 3 และ 4 จะให้ปุ๋ยเคมีภายหลังจากปลูก 5 และ 7 เดือน ซึ่งเป็นระยะที่กล้วยใกล้จะให้ผลผลิต จะให้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-24, 13-13-21 หรือ 14-14-21 อัตรา 125-250 กรัมต่อต้นต่อครั้งวิธีการใส่ปุ๋ยเคมี โรยห่างจากต้นประมาณ 30 เซนติเมตร หรือใส่ลงในหลุมลึกประมาณ 10 เซนติเมตร 4 ด้าน แล้วพรวนดินกลบ
การให้น้ำ
- ในฤดูฝน เมื่อฝนทิ้งช่วง เมื่อสังเกตหน้าดินแห้งและเริ่มแตก ควรรีบให้น้ำในฤดูแล้งเริ่มให้น้ำตั้งแต่หมดฝน ประมาณปลายเดือนมกราคม-พฤษภาคมวิธีการให้น้ำ:ใช้วิธีปล่อยให้น้ำไหลเข้าไปในแปลงย่อยเป็นแปลง ๆ เมื่อดินมีความชุ่มชื้นดีแล้ว จึงให้แปลงอื่นต่อไป

กล้วยหอม



กล้วยหอม
แหล่งปลูกที่เหมาะสมในการปลูกกล้วยหอมมีสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ที่น้ำไม่ท่วมขัง มีการระบายน้ำได้ดีมีแหล่งน้ำเพียงพอตลอดฤดูปลูก มีความอุดมสมบูรณ์ ความเป็นกรด-ด่าง 4.5-7.5เป็นพื้นที่ที่ไม่มีลมแรง หรือเลือกพื้นที่ที่มีแนวกันลม อุณหภูมิเหมาะสมกับการเจริญเติบโต ประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส ไม่ควรต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
- ต้น ลำต้นเทียมสูง 2.5-3.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางมากกว่า 20 เซนติเมตร ตามลำต้นด้านนอกมี ประดำเล็กน้อย ด้านในสีเขียวอ่อน และมีเส้นลายสีชมพู
- ใบ ก้านใบมีร่องค่อนข้างกว้าง และมีปีก เส้นกลางใบสีเขียว
- ดอก ก้านช่อดอกมีขนใบประดับรูปไข่ค่อนข้างยาว ปลายแหลม ด้านบนสีแดงอมม่วง มีไข ด้านในสีแดงซีด
- ผล เครือหนึ่งมี 4-6 หวี หวีละ 12-16 ผล ปลายผลมีจุกเห็นชัด เปลือกบาง เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทอง แต่ที่ปลายจุกจะมีสีเขียว แล้วเปลี่ยนสีภายหลัง เนื้อสีเหลืองเข้ม กลิ่นหอม รสหวาน

พันธุ์
พันธุ์ที่นิยม คือ กล้วยหอมทอง (AAA Group) ให้ผลผลิตสูง รสชาติดี และผลโต

การปลูก
- การเตรียมดิน :ไถดะ 1 ครั้ง ตากดินแล้วไถพรวน 1-2 ครั้ง ให้ดินร่วนซุย ไม่มีวัชพืช ถ้ามีวัชพืชมากกว่าร้อยละ 20 ต้องไถพรวนใหม่
- การเตรียมหลุมปลูก:- ระยะปลูกระหว่างแถวและต้น 2x2 เมตร- ขนาดหลุมปลูก กว้าง ยาว ลึก 30x30x30 เซนติเมตร- รองก้นหลุมด้วยดินผสมปุ๋ยอินทรีย์ ด้วย 5 กิโลกรัมต่อหลุม
- การเตรียมพันธุ์และการปลูก:- ใช้หน่อพันธุ์ที่สมบูรณ์ ปราศจากศัตรูพืช มีความยาวหน่อ 25-35 เซนติเมตร มีใบแคบ 2-3 ใบ- วางหน่อพันธุ์ที่ก้นหลุม จัดวางให้ด้านที่ติดต้นแม่อยู่ในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้มีการออกดอกไปในทิศทางเดียวกัน และสะดวกในการดูแลรักษา- กลบดินและกดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น คลุมดินด้วยฟางข้าวหรือหญ้าแห้ง และรดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา
- การให้น้ำ:ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดฤดูปลูก เมื่อหน้าดินแห้งต้องให้น้ำ (โดยเก็บตัวอย่างดินจากผิวดินลึก15 เซนติเมตร กำเป็นก้อน ถ้าแบมือแล้วแตกร่วงควรให้น้ำเพิ่มแก่ต้นกล้วย)
- การให้ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 และ 2 เมื่อกล้วยหอมอายุ 1 และ 3 เดือน ด้วยสูตร 20-10-10 หรือ 15-15-15 หรือสูตร ใกล้เคียงอัตรา 125-250 กรัมต่อต้นต่อครั้ง- ใส่ปุ๋ยครั้งที่ 3 และ 4 เมื่ออายุ 5 และ 7 เดือน ด้วยสูตร 13-13-21 หรือสูตรใกล้เคียง อัตรา 125-250 กรัมต่อต้นต่อครั้ง- ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก) ปีละ 1-2 ครั้ง
- การแต่งหน่อ:หลังจากปลูกกล้วยประมาณ 5 เดือน ให้แต่งหน่อ เพื่อให้ต้นแม่มีความสมบูรณ์
- การค้ำยันต้น:ต้องใช้ไม้ค้ำยันหรือดามกล้วยทุกต้น ที่ออกปลีแล้ว เพื่อป้องกันลำต้นหักล้ม และตรวจดูการค้ำยันให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง
- การหุ้มเครือ และตัดใบธง:การหุ้มเครือกระทำหลังจากตัดปลีไม่เกิน 15 วัน เพื่อให้ผิวกล้วยสวย และป้องกันแมลงทำลายด้วยถุงพลาสติกสีฟ้า แบบเปิดด้านล่าง โดยหุ้มทั้งเครือ และหุ้มทุกเครือ ส่วนการตัดใบธง ตัดเมื่อใบธงเริ่มหักก่อนที่จะเสียดสีกับผิวกล้วย

โรคที่สำคัญ
โรคตายพราย (Panama disease)
เกิดจากเชื้อรา Fusarium oxysporum f. cubense อาการ:มักเป็นกับกล้วยที่มีอายุ 4-5 เดือนขึ้นไป ลักษณะอาการของกล้วยที่เพิ่งจะเป็นโรคนี้ สังเกตเห็นได้ยาก เนื่องจากเชื้อของโรคจะทำลายลำต้นด้านรากก่อน และเจริญอย่างรวดเร็วไปตามท่อน้ำของลำต้น อาการในช่วงนี้จะสังเกตเห็นเป็นทางสีเหลืองอ่อนตามก้านใบของใบล่างหรือใบแก่ ปลายหรือขอบใบจะเริ่มเหลืองและขยายไปอย่างรวดเร็วจะเหลืองหมดทั้งใบ ใบอ่อนจะมีสีเหลืองไหม้หรือตายนึ่ง และบิดเป็นคลื่นในที่สุดจะหักพับตรงบริเวณโคนก้านใบ ส่วนใบยอดอาจจะเหลืองตั้งตรงเขียวอยู่ในระยะแรก แต่ในที่สุดก็จะแห้งตายไปเช่นกันอาการที่บริเวณลำต้น โดยเฉพาะตรงส่วนโคนต้นหรือเหล้าของกล้วย เมื่อผ่าดูภายในจะพบแผลเน่าเป็นจุดสีเหลืองอ่อนจนถึงน้ำตาลแก่หรือแดงส้ม และมีกลิ่นเหม็น ส่วนบริเวณลำต้นที่เรียกว่า กาบกล้วย เมื่อนำมาตัดขวางจะพบเป็นรอยช้ำ เน่า สีน้ำตาลเข้มหรือดำ อาการดังกล่าวจะค่อย ๆ ลามเข้าไปข้างในต้นกล้วยจะยืนต้นแห้งตาย หากเป็นกล้วยที่ให้ผลแล้ว เครือจะเหี่ยวผลลีบเล็กไม่สม่ำเสมอ และแก่ก่อนกำหนด เนื้อจะจืดซีดและเปลี่ยนเป็นสีดำ
การป้องกันกำจัด
- คัดเลือกหน่อพันธุ์กล้วยจากบริเวณที่ไม่เป็นโรคไปปลูก
- มีการปรับสภาพของดินที่เป็นกรดโดยการใส่ปูนขาว อัตราที่ใช้ประมาณไร่ละ 4-5 ตัน
- หมั่นทำความสะอาดแปลงปลูกและเครื่องมือเครื่องใช้อยู่เสมอ เนื่องจากเชื้อชนิดนี้สามารถแพร่ กระจายได้ง่าย
- ทำลายต้นกล้วยที่เป็นโรค โดยการสุมไฟเผาหรือขุดหลุมฝังให้ลึกอย่างน้อย 3-4 ฟุต
- หลักเลี่ยงการปลูกในหลุมเดิมที่เคยปลูกมาแล้ว
- ควรลดธาตุไนโตรเจนให้น้อยลง การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากจะทำให้พืชอ่อนแอเชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย
- ทำความสะอาดโคนกอกล้วยอย่าให้เกิดรกรุงรัง และทำทางระบายน้ำให้ดี และราดโคนต้นให้ชุ่มด้วย สารเคมี เช่น แคปแทน 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
โรคใบจุด
เกิดจากเชื้อราหลายชนิด เช่น Cecospora musae, Phyllosticma musarum, Guignardia musaeฯลฯ ลักษณะอาการ:เมื่อเริ่มเป็นจะเป็นจุดขนาดเล็ก สีเหลือง สีแดง ดำ หรือน้ำตาลขึ้นอยู่กับเชื้อสาเหตุ แล้วจะขยายใหญ่ขึ้น ทำให้กล้วยชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตลดลง ผลสุกก่อนกำหนด รสชาติหรือคุณภาพเสียไปการป้องกันกำจัด:ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น เบนโนมิล อัตรา 8 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแคปแทน อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์เบนดาซิม อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เป็นต้น ตัดใบที่เป็นโรคมากออกมาเผาทำลาย
โรคใบเหี่ยว (Bacterial wilt)
เกิดจากเชื้อบักเตรี Pseudomonas solanacearum จะอยู่ทั้งในดินบริเวณโคนต้นและในส่วนของกล้วยเป็นโรค จะแพร่กระจายไปกับน้ำและติดไปกับหน่อพันธุ์ ลักษณะอาการ:ใบกล้วยจะเป็นสีเหลือง เหี่ยวเฉา และอาจห้อยลงมา แต่เมื่อพบเห็นอาการนี้โรคจะอยู่ในระยะรุนแรงมากแล้ว โดยทั่วไปเมื่อโรคเริ่มเป็น จะพบว่าเนื้อเยื่อของกาบลำต้น เหง้า (ลำต้นแท้) ก้านใบ ก้านเครือ มีท่อน้ำท่ออาการถูกทำลาย เป็นสีน้ำตาล เมื่อผ่าออกจะมีของเหลวเหนียวเป็นยางไหลออกมา โรคนี้จะทำให้ต้นกล้วยค่อย ๆ ตายไป ถ้าเป็นในระยะออกเครือจะทำให้ผลอ่อนสุกก่อนกำหนด ขนาดเล็กเท่านิ้วมือปะปนกับผลอ่อนที่ยังเขียวอยู่ เมื่อเป็นในระยะต้นอ่อน ใบจะเป็นสีเหลืองมีขอบใบแห้งอยู่โดยรอบ แคระแกรน ไม่เจริญเติบโตการป้องกันกำจัด:ทำความสะอวดเครื่องมือเกษตร เช่น มีด จอบ เสียม ต้องระมัดระวังอย่าใช้มีดที่ตัดแต่งจากกล้วยกอหนึ่งไปยังอีกกอหนึ่ง เพราะจะเพิ่มการระบาดของโรค กล้วยที่เป็นโรคต้องขุดทิ้ง นำไปเผาไฟ แล้วราดหลุมด้วยฟอร์มาลิน 5 เปอร์เซ็นต์แช่หน่อพันธุ์ปลูกด้วยฟอร์มาลิน 5 เปอร์เซ็นต์

วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2553

กล้วยน้ำว้า


กล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้าเป็นกล้วยที่นิยมบริโภคในประเทศมีคุณค่าทางอาหาร เหมาะสมสำหรับการรับประทานทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ปลูกค่อนข้างง่าย

การปลูก
วิธีปลูก
- ปลูกในช่วงฤดูฝน
- ปลูกด้วยหน่อใบแคบ หรือต้นพันธุ์ที่ได้จากการเพาะปลูกเลี้ยงเนื้อเยื่อ
- เตรียมหลุมปลูกขนาด 50x50x50 ซม.
- ผสมดินปุ๋ยคอกจำนวน 5 กิโลกรัม และปุ๋ยร็อคฟอสเฟส จำนวน 50 กรัม เข้าด้วยกันใน หลุมให้สูง ประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม
- ยกถุงกล้าต้นไม้วางในหลุมโดยระดับของดินในถุงสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย
- ใช้มีดที่คมกรีดถุงจากก้นถุงขึ้นมาถึงปากหลุมทั้ง 2 ด้าน (ซ้ายและขวา)
- ดึงถุงพลาสติกออกโดยระวังอย่าให้ดินแตก
- กลบดินที่เหลือลงในหลุม
- กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น
- คลุมดินบริเวณโคนต้นด้วยฟางข้าว หรือหญ้าแห้ง
- รดน้ำให้ชุ่ม

ระยะปลูก
- 2.5 x 3 เมตร , 2.5 x 2.5 เมตร
- จำนวนต้นต่อไร่
- จำนวนต้นเฉลี่ย 200 ต้น/ไร่ , 250 ต้น/ไร่ก

การดูแลรักษา
การใส่ปุ๋ย
- ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 หรือ 15-15-15 อัตรา 1 กิโลกรัม ต้น/ปี โดยแบ่งใส่ 4 ครั้ง ๆ ละ 250 กรัม ดังนี้
ครั้งที่ 1 ใส่หลังปลูก 1 สัปดาห์ ใช้สูตร 15-15-15
ครั้งที่ 2 ใส่หลังจากครั้งที่ 1 ประมาณ 3 เดือน ใช้สูตร 15-15-15
ครั้งที่ 3 ใส่หลังจากครั้งที่ 2 ประมาณ 3 เดือน ใช้สูตร 15-15-15
ครั้งที่ 4 ใส่หลังจากครั้งที่ 3 ประมาณ 3 เดือน ใช้สูตร 13-13-21

การให้น้ำ
ปริมาณของน้ำนั้นขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ความชุ่มชื้นของดิน ปริมาณลมที่พัดผ่านจะทำให้การคายน้ำมาก จึงไม่ควรปล่อยให้ผิวหน้าดินแห้งติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากรากจะหาอาหารอยู่บริเวณผิวดิน จึงทำให้หยุดชะงักการเจริญเติบโตการ

ตัดแต่งหน่อ
ตัดแต่งหน่อหลังจากปลูกประมาณ 3-4 เดือน จะมีหน่อขึ้นมารอบ ๆ โคนให้ตัด ไปเรื่อยจนกว่าจะเริ่มออกปลี หรือหลังปลูกแล้วประมาณ 7-8 เดือน ควรมีการไว้หน่อทดแทน 1-2 หน่อ โดยหน่อที่ 1 และที่ 2 ควรมีอายุห่างกันประมาณ 4 เดือน เพื่อให้ผลกล้วยมีความอุดมสมบูรณ์ โดย เลือกหน่อที่อยู่ในทิศทางที่ตรงกันข้าม

การตัดแต่งใบ
- ควรตัดแต่งใบช่วงที่ต้นเริ่มโตจนถึงเก็บเกี่ยว โดยเลือกใบแก่ และใบที่เป็นโรคออก ตัดให้เหลือประมาณ 7-12 ใบ เพื่อป้องกันต้นกล้วยโค่นช่วงออกปลี เพื่อใช้ใบปรุงอาหาร และเพิ่มความเจริญเติบของผลกล้วย

การเก็บเกี่ยว
- การเก็บเกี่ยวกล้วยระยะใดขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการขนส่ง หากขนส่งไปขายไกล ๆ อาจตัดกล้วยเมื่อความแก่ประมาณ 75% การดูลักษณะความอ่อนแก่ของกล้วย อาจดูจากลักษณะผล เช่น ดูขนาดลูกกล้วย เหลี่ยมกล้วย หรือใช้วิธีการนับอายุจากวันแทงปลี หรือวันตัดปลีในการตัดจะต้องพิจารณาถึงต้นสูงหรือเตี้ย ถ้าสูงก็ให้ตัดบริเวณโคนต้น เพื่อให้ต้นเอียงลงมา โดยให้อีกคนหนึ่งจับหรือรับเครือกล้วยไว้ จะต้องเหลือก้านให้ยาวพอสมควร นำไปยังโรงเรือนเพื่อคัดขนาดบรรจุต่อไป

การปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว
- นำเครือกล้วยแขวนไว้บนราว ปล่อยให้ยางไหลจนแห้ง ทำความสะอาดถูกผลหรือบริเวณปลายผลที่มีกลีบแห้งติดอยู่ออกให้หมf แยกเครือกล้วยออกเป็นหวี ๆ อย่างระมัดระวังอย่าให้รอยตัดช้ำ คัดเลือกผลที่มีรอยตำหนิ หวีที่ไม่ได้ขนาดออก จุ่มในน้ำผสมสารไธอาเมนตาโซล แล้วผึ่งลมหรือเป่าให้แห้ง บรรจุหีบห่อ/บรรจุลงเข่งโดยมีใบตองรอง เพื่อป้องกันบอบช้ำ

วัฒนธรรมเกี่ยวกับกล้วย













กล้วยกับความเชื่อของคนไทย
- ความเชื่อเรื่องกล้วยของคนไทยมีอยู่มากมาย เนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่อยู่คู่คนไทยมาอย่างเนิ่นนานแล้ว ในหญิงมีครรภ์มักไม่รับประทานกล้วยแฝดเพราะมีความเชื่อว่าจะได้ลูกแฝด แต่ถ้าบ้านไหนอยากได้ลูกแฝดก็รับประทานกล้วยแฝด
- สำหรับหญิงแม่ลูกอ่อนถ้ารับประทานแกงหัวปลี จะมีน้ำนมมาก ถ้าคิดตามหลักวิทยาศาสตร์แล้ว หัวปลีเป็นพืชที่มีธาตุเหล็กสูง บำรุงเลือดดี จึงทำให้มีน้ำนมมากนั้นเอง
- ต้นกล้วยที่ขาวเนียนสะอาด ไม่มีกาบใบแห้ง มักเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของนางพรายตานี เป็นผีผู้หญิง ที่มีหน้าตาสวยงาม ผิวขาว จะปรากฏตัวตอนกลางคืน โดยยืนอยู่ใต้ต้นกล้วยนั้นๆ
- ในด้านยาอายุวัฒนะ หากนำกล้วยแช่น้ำผึ้งปิดไหแล้วใช้ปูนแดงทาก่อนฝาปิด จากนั้นเอาไว้ใต้ฐานพระในวันเข้าพรรษา ปล่อยไว้นานสามเดือน ก็สามารถนำมารับประทานได้ ทั้งนี้ก็เป็นแนวคิดด้านการถนอมอาหารอีกวิธีหนึ่งด้วย
- ในงานมงคลมักมีกล้วยเข้ามาร่วมเกี่ยวในพิธีด้วย เช่น กล้วยทั้งเครือ กล้วยดิบ เป็นต้น ซึ่งหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง และความสงบร่มเย็น
- ในสมัยก่อนคนที่เป็นโรคฝีดาษ มีแผลพุพอง ก็มักให้นอนบนใบกล้วยเพราะจะทำให้น้ำเหลืองไม่ติดกับเสื้อผ้าบังเกิดความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย ส่วนการประหารชีวิตนั้น ก่อนลงมือประหารจะมีการนำใบกล้วยมาปูรองก่อน เพื่อกันเลือดไหลลงไปบนดิน เป็นต้น
ความเชื่อเรื่องกล้วยของชาวต่างชาติ
- ชื่อทางวิทยาศาสตร์แบบย่อของกล้วยว่า Musa กล่าวกันว่า Musa มาจากคำภาษาอาหรับว่า Muz ก็มีรากเดิมมาจากคำสันสกฤตว่า Mocha อีกทอดหนึ่งซึ่งหมายถึงกล้วยเหมือนกัน อีกกระแสหนึ่งที่ฟังดูน่าเชื่อถือน้อยกว่าบอกว่า Musa เป็นชื่อตั้งตามหมอชาวอาหรับในสมัยโรมัน คือ Antonius Musa ผู้นำกล้วยจากอินเดียมากจากอินเดียมาปลูกในถิ่นทางเหนือของอียิปต์ ก่อนหน้าที่ฝรั่งจะเรียกกล้วยว่า Banana อย่างเป็นเอกฉันท์ กล้วยถูกเรียกว่า Plantain ตามคำภาษาสเปนว่า Plantano ซึ่งอาจมีรากมาจากคำลาตินว่า Planta ที่แปลว่าใบกว้าง (spreading leaf) นอกจากนั้นฝรั่งเศสและอิตาลีเคยเรียกกล้วยว่า "fig" โดยมาจากคำเต็ม ๆ ว่า figue d Adam หรือ fico d Adamo ซึ่งอาจแปลได้ว่า "มะเดื่อของอาดัม" อาดัมนี่คือ (อาดัมกับอีฟในตำนานสร้างโลกของศาสนาคริสต์) ส่วน fig น่าจะหมายถึงใบมะเดื่อที่อาดัมใช้ปิดอวัยวะเพศของตน อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังมีที่ใช้คำนี้อยู่คือbanana fig แต่นี่หมายถึงกล้าวยตากโดยเฉพาะส่วนคำ Banana ในปัจจุบันเรียกตามภาษาแอฟริกาตะวันตกซึ่งอาจมีตากจากคำภาษาอาราเบียว่า Banan ซึ่งหมายถึงนิ้วมือหรือนิ้วเท้าในสังคมไทย กล้วย ถูกใช้ในเชิงเปรียบเทียบแสดงถึงคุณลักษณะทำได้ง่าย เช่นง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก หรือเรื่องกล้วยกล้วย แต่ในสังคมตะวันตกยุคบริโภคนิยม ถูกใช้ในเชิงเปรียบเทียบเป็นสัญลักษณ์กามารมณ์ โดยเฉพาะอวัยวะเพศผู้ชายเช่นสโลแกนโฆษณาว่า unzip a banana นอกจากนั้นยังมีที่ใช้ banana ในภาษาพูดอันหมายถึงอาการ บ้า หรือ เพี้ยน ฝรั่งเองก็ยังสืบค้นไม่ได้ว่า บ้าจะเกี่ยวข้องกับบานานาได้อย่างไรกล้วยในเอเชียใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งจริยธรรม คุณความดี ความงามความเจริญงอกงามในหมู่ชาวอาหรับถือว่ากล้วยเป็นพันธุ์ไม้แห่งสวรรค์ หรือพันธุ์ไม้แห่งปัญญา ที่รู้แยกแยะความดีกับความเลว ตำนานอินเดียถือว่ากล้วยเป็นผลไม้ของผู้มีปัญญา โดยเล่าขานถึงฤาษีในดงกล้วย ผู้กินกล้วยเป็นอาหารจนเกิดกำลังและปัญญาเป็นที่อัศจรรย์ หลายประเทศในเอเชียถือว่ากล้วยเป็นผลไม้สำหรับเซ่นสังเวยผีและเทวดา ตลอดจนผู้มีพระคุณของไทยเรา กล้วยเป็นของที่ขาดไม่ได้ใน ตั้งขันข้าว หรือค่าบูชาคุณ หมอตำแยที่มาทำคลอดให้ กล้วยทั้งหวีเป็นของเซ่นเทวดาและบรรพบุรุษในพิธีเซ่นไหว้อย่างคนจีนน้ำชาและผลไม้เป็นเครื่องเซ่นพื้นฐานและผลไม้เครื่องเซ่นที่ขาดเสียมิได้ก็คือส้มสีทองและกล้วยทั้งหวี ขนมกล้วยเป็นขนมที่พบได้ประจำในพิธีหมั้นพิธีแต่งงานของชาวไทยสมัยก่อน เพราะกล้วยหมายถึงความเจริญงอกงาม ได้ผลดกดื่นเหมือนกล้วยในแทบทุกชนชาติของเอเชีย ยังมีเหตุผลความเชื่อลึก ๆ ว่ากล้วยเป็นสัญลักษณ์แห่งชีวิตและการเจริญเติบโต ข้อนี้เป็นความเชื่อที่ถูกต้องเพระเด็กในสังคมเมืองทั่วโลกในปัจจุบันก็เติบโตโดยอาศัยกล้วยแปรรูป หรือพิวรี (banana puree) มาใช้ผสมเป็นอาหารเด็กจนได้ชื่อว่า "เด็กยุคพิวรีกล้วย" อยู่แล้ว (the pureed-banana generation)

วันจันทร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2553

การปลูกกล้วย

การปลูกกล้วย
1. สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสมในการปลูกกล้วย
2. การเลือกพันธุ์ปลูก
3. การปรับปรุงพันธุ์กล้วย

4. การปลูก
การเตรียมแปลงปลูก ในพื้นที่ที่มีหญ้ารกควรทำการดายหญ้าออกก่อนการปลูกประมาณ 10 วัน จากนั้นพรวนดิน กลับดินให้ทั่วเพื่อปราบวัชพืชและทำให้ดินร่วนโปร่ง เหมาะแก่การปลูกพืชยิ่งขึ้น สำหรับบริเวณที่มีน้ำท่วม หากจำเป็นควรยกร่องพอควร
- ระยะปลูก ระยะการปลูกกล้วยมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ถ้าปลูกมากใกล้กันเกินไปจะทำให้เกิดร่มเงามาก หน่อที่จะแตกขึ้นมาใหม่จะไม่แข็งแรงเท่าที่ควร เพราะได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ ดังนั้นการกำหนดระยะปลูกควรคำนึงถึงแสงแดด ความสมบูรณ์ของดิน และชนิดของพันธุ์กล้วยด้วย
ปลูกในที่ราบ
ควรกำหนดระยะระหว่างแถวที่ปลูกให้ห่างกัน 5 เมตร ระหว่างต้น 5 เมตร ในดินที่สมบูรณ์ปานกลาง ไร่หนึ่ง ๆ จะปลูกได้ประมาณ 64 หน่อ
การปลูกแบบยกร่อง
การปลูกค่อนข้างถี่ ห่างกันประมาณ 2.5-3.0 เมตร โดยการปลูกแบบนี้ต้องเว้นระยะปลูกถี่
- วิธีการปลูก
ปลูกในที่ราบ
หลังจากกำจัดวัชพืช ขุดดินตลอดทั้งสวน ตากดินไว้ประมาณ 5-7 วัน หลังจากนั้นจึงขุดหลุมขนาดความกว้าง ยา ลึก ด้านละ 50 เซนติเมตร กองดินชั้นบนไว้ทางหนึ่ง ดินชั้นล่างไว้ทางหนึ่ง เสร็จแล้วให้ไส่ดินชั้นบนลงไปก่อนพร้อมทั้งใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวแล้วลงไปด้วยเพื่อให้ดินร่วนซุยยิ่งขึ้น คลุกเคล้าให้เข้ากันดี แล้วจึงวางหนอกล้วยที่เตรียมไว้ลงตรงกลางหลุม โดยให้ส่วนยอดสูงกว่าระดับดินประมาณ 4 นิ้ว ส่วนตาจะลึกในดินประมาณ 1 ฟุต การปลูกในฤดูผม ควรพูนดินกลบโคนต้นให้สูงไว้เพื่อป้องกันน้ำขัง
การปลูกแบบยกร่อง
มักใช้กันแถบภาคกลาง โดยเฉพาะกล้วยหอม จะปลูกริมสันร่องทั้ง 2 ข้างตรงกลางเว้นไว้เป็นทางเดิน ให้มีระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 3 เมตร ที่ใช้ระยะปลูกถี่เช่นนี้เพราะจะมีการปลูกใหม่ทุกปี
- วิธีการให้น้ำ กล้วยเป็นพืชที่มีใบใหญ่ ลำต้นอวบน้ำ ต้องการน้ำมาก ตลอดปีมากกว่าพืชอื่น โดยเฉพาะในฤดูแล้ง และเนื่องจากรากที่หาอาหารส่วนใหญ่แผ่กระจายอยู่ใหล้กับผิวหน้าดิน จึงไม่ควรปล่อยให้ผิมหน้าดินแห้งเป็นอันขาด ถ้าผิวหน้าดินแห้งแล้ว จะทำให้ผลผลิตลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว
- วิธีการใส่ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยมีผลต่อการเจริญเติงโตของกล้วยมาก กล่าวคือจะช่วยให้ลำต้นอวบแข็งแรง ตกเครือเร็วและได้ผลโต การเจริญเติบโดของกล้วยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เริ่มนับตั้งแต่ต้นกล้วยตั้งตัวหลังการปลูก ระยะนี้เป็นเวลาที่กล้วต้องการอาหารมากเครือหนึ่ง จะมีผมกี่ผลนั้น อยู่ที่ความสมบูรณ์ของดินในระยะที่ 2 อยู่ระหว่างหลังตั้งตัวได้จนถึงก่อนตกเครือเล็กน้อย ระยะนี้กล้วยไม่ใช้อาหารมาก อาหาร ๆ ต่าง จะถูกใช้โดยหน่อที่เริ่มแตกขึ้นมาระยะที่ 3 เป็นระยะจากตกเครือจนกล้วยแก่ เป็นระยะที่กล้วยต้องการอาหารมากเหมือนกัน
ระยะการใส่ปุ๋ย
- ระยะที่ 1
หลังจากปลูกได้ 1 อาทิตย์
- ระยะที่ 2
หลังจากครั้งแรก 1 เดือน
- ระยะที่ 3
กล้วยอายุได้ประมาณ 3 เดือน
- ระยะที่ 4
กล้วยอายุได้ประมาณ 5 เดือน
**ปุ๋ยใช้ สูตรทั่วไปคือ 15-15-15 หรือ 13-13-21
5. การตัดแต่งหน่อกล้วย

ประเภทของกล้วย

ประเภทของกล้วย
กล้วย ทั่วโลกมีกล้วยอยู่ประมาณ 200-300 ชนิด สำหรับชนิดของกล้วยที่มีในประเทศไทยนั้นได้เก็บรวบรวมพันธุ์ไว้เมื่อปี พ.ศ.2524 ชึ่งแบ่งออกเป็น 5 กลุ่มดังนี้
1. กล้วยป่าออร์นาตา ปลูกกันแถบภาคเหนือ นิยมเรียก "กล้วยบัว" หรือ บางท้องถิ่นเรียกว่า "กล้วยป่า" (ลำปาง)
2. กล้วยป่าอะคิวมินาตา กล้วยในกลุ่มนี้มีแพร่หลายในประเทศไทย แต่ละถิ่นอาจเรียกชื่อต่างกัน เช่น ที่จังหวัดสงขลา เรียก "กล้วยทอง" ที่จังหวัดแพร่ จังหวัดอุตรดิตถ์และจังหวัดลำปาง เรียก "กล้วยแข"
3. กล้วยในสายพันธุ์อะคิวมินาตา คัลทิฟาร์ กล้วยในกลุ่มนี้ มีหลายชนิด ได้แก่
กล้วยเล็บมือนาง ปลูกกันมากในภาคใต้ บางท้องถิ่น เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียก "กล้วยหมาก" จังหวัดพัทลุง เรียก "กล้วยทองหมาก" ส่วนจังหวัดนครสวรรค์ เรียก "กล้วยเล็บมือ"
- กล้วยทองร่วง ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียก "กล้วยไข่ทองร่วง" ที่จังหวัดสงขลา เรียก "ค่อมเบา"
- กล้วยไข่ ปลูกกันทั่วไป ที่จังหวัดสุรินทร์ เรียก "เจ็กบง"
- กล้วยหอม ปลูกในสวนหลังบ้านแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- กล้วยหอมทองสาน ปลูกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
- กล้วยสา ปลูกกันมากภาคใต้
- กล้วยนมสาว ปลูกกันมากภาคใต้
- กล้วยลาย ปลูกกันมากภาคใต้
- กล้วยทองกาบดำ ปลูกกันมากภาคใต้เช่นกัน
- กล้วยนาก กล้วยชนิดนี้มีการเรียกต่างกันหลายแห่ง ที่จังหวัดพะเยาและจังหวัดแพร่ เรียก "กล้วยน้ำครั่ง" จังหวัดนครศรีธรรมราชเรียก "กล้วยกุ้ง" ส่วนที่จังหวัดสุรินทร์ เรียก "กล้วยครั่ง"
- กล้วยหอมทอง ที่จังหวัดจันทบุรี เรียก "หอมทอง" นิยมรับประทานสดมากที่สุด
- กล้วยหอมเขียว ที่จังหวัดแพร่ เรียกกล้วยคร้าว จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียก "กล้วยเขียวคอหักหรือกล้วยเขียว" ส่วนที่จังหวัดพะเยา เรียก "กล้วยหอมคร้าว"
- กล้วยกุ้งเขียว เป็นลูกผ่าเหล่าของกล้วยนาก ที่จังหวัดแพร่ เรียก "กล้วยหอมทอง"
- กล้วยหอมค่อม ที่จังหวัดพัทลุง และจังหวัดอุบลราชธานี เรียก "กล้วยเตี้ย" จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียก กล้วยไข่บอง ที่จังหวัดนครราชสีมา เรียก "กล้วยไข่พระตะบอง"
- กล้วยดอกไม้ เมื่อสุกผลจะเป็นสีทอง จัดอยู่พวกเดียวกับกล้วยหอมทอง
4. กล้วยป่าบาลบิเชียน่า นิยมเรียก "กล้วยตานี" มีแพร่หลายทั่วประเทศไทย ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียก "กล้วยพองลา" ส่วนที่จังหวัดแพร่และจังหวัดลำปาง เรียก "กล้วยป่า"
5. กล้วยลูกผสมอะคิวมินาตากับบาลบิเชียน่า กล้วยในกลุ่มนี้ มีหลายชนิด ได้แก่
- กล้วยลังกา ที่จังหวัดพัทลุง เรียก "กล้วยจีน"
- กล้วยเงิน เป็นกล้วยที่หาพันธุ์ยาก มีเฉพาะที่จังหวัดสงขลา
- กล้วยน้ำพัด ที่จังหวัดจันทบุรี เรียก "กล้วยน้ำกาบดำ"
- กล้วยทองเดช มีการปลูกมากในจังหวัดสงขลา
- กล้วยนางนวล มีการปลูกมากในจังหวัดสงขลา
- กล้วยไข่โบราณ มีเฉพาะที่จังหวัดตราด เป็นกล้วยที่หาพันธุ์ยากเช่นกัน
- กล้วยน้ำ มีหลายถิ่นเรียกต่างกัน ที่จังหวัดนครนายก เรียก "กล้วยหอมนางนวล" จังหวัดนครศรีธรรมราช เรียก "กล้วยแก้ว" จังหวัดสกลนายกและจังหวัดชัยภูมิ เรียก "กล้วยหอม" จังหวัดยโสธร เรียก "กล้วยหอมเล็ก" และที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เรียก "กล้วยหอมจันทร์"
- กล้วยขม เป็นกล้วยที่มีรสขมเช่นเดียวกับ ชื่อ ปลูกมากที่ภาคใต้
- กล้วยขมนาก ปลูกมากแภบภาถใต้
- กล้วยร้อยหวี หรือ กล้วยงวงช้าง ถิ่นกำเนิดอยู่ที่ประเทศอินโดนีเซีย นิยมเป็นไม้ประดับ
- กล้วยนมหมี ที่จังหวัดอ่างทอง เรียก "กล้วยแหกคุก"
- กล้วยปลวกนา มีการปลูกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดนครนายก เรียก "กล้วยน้ำไทย" จังหวัดยโสธร เรียก "กล้วยส้ม" และจังหวัดอุบลราชธานี เรียก "กล้วยทิพย์ใหญ่"
- กล้วยน้ำว้า ปลูกกันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ที่จังหวัดแพร่ เรียก "กล้วยน้ำว้าเหลือง" จังหวัดเชียงราย เรียก "กล้วยใต้"
- กล้วยน้ำว้าค่อม มีลักษณะแคระ กลายพันธุ์มาจากกล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้าขาว เนื้อของผลมีสีขาว กลายพันธุ์มาจากกล้วยน้ำว้า
กล้วยน้ำว้าแดง เนื้อของผลมีสีแดง กลายพันธุ์มาจากกล้วยน้ำว้าเช่นกัน บางทีเรียกต่างกัน ที่จังหวัดชัยภูมิ เรียก "กล้วยอ่อง" จังหวัดนครสวรรค์ เรียก "กล้วยสุกไสแดง" ส่วนจังหวัดแพร่ เรียก "กล้วยน้ำว้าในออก"
- กล้วยเทพรส ที่จังหวัดเชียงราย เรียก "กล้วยทิพย์คุ้ม"
- กล้วยพญา มีการปลูกมากในจังหวัดสงขลา
- กล้วยส้ม ที่จังหวัดจันทบุรี เรียก "กล้วยหักมุก"

วันอาทิตย์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553

ประวัติดารา






ชื่อ – สกุล ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ
ชื่อเล่น แอฟ
วันเกิด 27 ตุลาคม 2523
สถานะ โสด
อายุ 30 ปี
ส่วนสูง 163 ซม.
น้ำหนัก 45 กก.
ประเภทดารา นักแสดง

ประวัติย่อ
เป็นคนโรแมนติค เรียบง่าย แต่กระตือรือร้น ชอบแสดงออก ช่วงวัยเรียนทำกิจกรรมมากมาย โดยเฉพาะเมื่อเป็นนิสิต เล่นละครเวที ร่วมสตาฟฟ์กีฬามหาวิทยาลัย และเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณี

การศึกษา
- ประถมศึกษาจากโรงเรียนไผทอุดมศึกษา
- มัธยมโรงเรียนราชินีบน
- ปริญญาตรี เอกโฆษณา นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- เรียนระดับปริญญาโทอยู่ที่สหรัฐอเมริกา

งานอดิเรก
- เข้าฟิตเนสออกกำลังกาย
- อ่านหนังสือ


สิ่งที่ชื่นชอบ
- ชอบสีขาว ดำ
- อ่านหนังสือทั้งนวนิยายแปล วิชาการ นิตยสาร และหนังสือประเภทฮาว ทู
- ดูหนังได้ทุกแนวไม่เกี่ยงว่าแอ๊คชั่นหรือโรแมนติค
- ฟังเพลงทั้งแจ๊ซ ป๊อป
- นักร้องคนโปรด: นอร่าห์ โจนส์ ดารา
- ดาราในดวงใจ: นก-สินจัย เปล่งพานิช กับ จริยา แอนโฟเน่

ศิลปินที่ชอบ
- นก-สินจัย เปล่งพานิช
- จริยา แอนโฟเน่

นิสัยส่วนตัว
เป็นคนโรแมนติค เรียบง่าย แต่กระตือรือร้น ชอบแสดงออก

ที่อยู่
บริษัทเมกเกอร์กรุ๊ป จำกัด 58/22 ซอยเสนานิคม 1 ถนนพหลโยธิน 32 ลาดพร้าว จระเข้บัว กรุงเทพฯ 10230

อาหารที่ชอบ
กินอาหารได้ทุกชนิดแต่ขอให้รสจืด


ผลงานละคร
- มิตร ชัยบัญชา มายาชีวิต (ปี 2546 / ช่อง 7) อัครา อมาตยกุล
- ริษยา (ปี 2547 / ช่อง 3) ชาย ชาตโยดม หิรัญยัษฐิติ
- ผู้ชายมือสอง (ปี 2547 / ช่อง 3) ชาย ชาตโยดม หิรัญยัษฐิติ
- เพื่อนรัก (ปี2548 /ช่อง3) กรุณพล เทียนสุวรรณ
- มนต์รักลอตเตอรี่ (ปี2548 /ช่อง3) แดน วรเวช ดานุวงศ์
- ตี๋ตระกูลซ่ง (ปี 2549 / ช่อง 3) ดนัย จารุจินดา
- จอมใจ (ปี2550 / ช่อง 3) ดอม เหตระกูล
- เมื่อดอกรักบาน (ปี 2550 / ช่อง 3) มาร์ท กฤษฎา พรเวโรจน์
- จำเลยรัก (ปี 2551 / ช่อง 3) อั้ม อธิชาติ ชุมนานนท์
- โบตั๋นกลีบสุดท้าย(ปี 2551 / ช่อง 3) อั้ม อธิชาติ ชุมนานนท์
- ใจร้าว (ปี 2551 / ช่อง 3) เคน ธีรเดช วงศ์พัวพัน
- พระจันทร์สีรุ้ง (ปี 2552 / ช่อง 3) บี้ สุกฤษฎิ์ วิเศษแก้ว
- น้ำตาลไหม้ (ปี 2552 / ช่อง 3) อั้ม อธิชาติ ชุมนานนท์

ผลงานโฆษณา
- "มิสทิน" ชุดแก้วตา
- Twister
- Balancing Cool ตรางู
- Toyota Fortuner
- Garnier
- Sb Furniture


ผลงานเพลง
เพลงประกอบละคร ใจร้าว

รางวัลที่เคยได้รับ
รางวัลดารานำหญิงดีเด่น จากละคร เมื่อดอกรักบาน จากงานโทรทัศน์ทองคำครั้งที่ 22
เหตุผลที่ชอบ
แอฟ ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ เป็นคนน่ารักมาก ๆ พูดจาไพเราะอ่อนหวาน นิสัยดี กิริยามารยาทเรียบร้อย การแต่งกายก็สุภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับบุคลิกภาพ แสดงละครเก่งและสมบทบาทมาก เป็นคนที่ไม่ค่อยมีข่าวคราวกับใครเท่าไหร่และที่สำคัญเป็นคนที่สวยแบบไทย ๆ ชอบมาก ๆ




ประโยชน์ของกล้วย

ถ้าต้องการให้ระดับพลังงาน ที่หย่อนยานลงให้กลับคืนมาอย่างรวดเร็ว ไม่มีอาหารว่างใดดีไปกว่า กล้วย อุดมด้วยน้ำตาลธรรมชาติ 3 ชนิด
คือ ซูโครส ฟรุคโทส และ กลูโคส รวมกับเส้นใยและกากอาหาร กล้วยจะช่วยเสริมเพิ่มพลังงานให้กับร่างกายทันทีทันใด จากงานวิจัยพบว่ากินกล้วยแค่ 2 ผล ก็สามารถเพิ่มพลังงานให้อย่างเพียงพอ กับการออกกำลังกายอย่างเต็มที่ได้นานถึง 90 นาที จึงไม่น่าแปลกใจที่กล้วยเป็นผลไม้อันดับหนึ่งของนักกีฬาชั้นนำระดับโลก ไม่ใช่เพียงแค่เพิ่มพลังงานเท่านั้นยังช่วยเอาชนะ และป้องกันโรคต่าง ๆ ที่จะเกิดกับร่างกายได้อีกหลายโรค จึงควรรับประทานทุกวัน
1. โรคโลหิตจาง ในกล้วยมีธาตุเหล็กสูงจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นการผลิตฮีโมโกลบินในเลือด และจะช่วยในกรณีที่มีสภาวะขาดกำลัง หรือภาวะโลหิตจาง
2. โรคความดันโลหิตสูง มีธาตุโปรแตสเซียมสูงสุด แต่มีปริมาณเกลือต่ำ ทำให้เป็นอาหารที่สมบูรณ์แบบที่สุดที่จะช่วยความดันโลหิตมาก อย.ของอเมริกา ยินยอมให้อุตสาหกรรมการปลูกกล้วยสามารถ โฆษณาได้ว่า กล้วยเป็นผลไม้พิเศษช่วยลดอันตรายอันเกิดจากเรื่องความดันโลหิตหรือโรคเส้นเลือดฝอยแตก
3. กำลังสมอง นักเรียน 200 คน ที่โรงเรียน Twickenham ได้รับผลดีจากการสอบตลอดปีนี้ ด้วยการรับประทานกล้วย ในมื้ออาหารเช้า ตอนพัก และมื้ออาหารกลางวันทุกวัน เพื่อช่วยส่งเสริมกำลังของสมองในพวกเขา จากงานวิจัยแสดง ให้เห็นว่าปริมาณโปรแตสเซียมที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในกล้วยสามารถให้นักเรียนมีการตื่นตัวในการเรียนมากขึ้น
4. โรคท้องผูก ปริมาณเส้นใยและกากอาหารที่มีอยู่ในกล้วยช่วยให้การขับถ่ายเป็นปกติ และยังช่วยแก้ ปัญหาโรคท้องผูกโดยไม่ต้องกินยาถ่ายเลย
5. โรคความซึมเศร้า จากการสำรวจเร็ว ๆ นี้ ในจำนวนผู้ที่มีความทุกข์เกิดจากความซึมเศร้าหลายคนจะมี ความรู้สึกที่ดีขึ้นมากหลังการกินกล้วย เพราะมีโปรตีนชนิดที่เรียกว่า try potophan เมื่อสารนี้เข้าไปในร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็น serotonin เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นตัวผ่อนคลายปรับปรุงอารมณ์ให้ดีขึ้นได้ คือทำให้เรารู้สึกมีความสุขเพิ่มขึ้นนั่นเอง
6. อาการเมาค้าง วิธีที่เร็วที่สุดที่จะแก้อาการเมาค้าง คือ การดื่มกล้วยปั่นกับนมและน้ำผึ้ง กล้วยจะทำให้ กระเพาะของเราสงบลง ส่วนน้ำผึ้งจะเป็นตัวช่วยหนุนเสริมปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือดที่หมดไปในขณะที่นมก็ช่วย ปรับระดับของเหลวในร่างกายของเรา
7. อาการเสียดท้อง กล้วยมีสารลดกรดตามธรรมชาติที่มีผลต่อร่างกายของเรา ถ้าปัญหาเกี่ยวกับอาการเสียด ท้อง ลองกินกล้วยสักผล คุณจะรู้สึกผ่อนคลายจากอาการเสียดท้องได้
8. ความรู้สึกไม่สบายในตอนเช้า การกินกล้วยเป็นอาหารว่างระหว่างมื้ออาหาร จะรักษาระดับน้ำตาลใน เส้นเลือดให้คงที่ เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่สบายในตอนเช้า
9. ยุงกัด ก่อนใช้ครีมทาแก้ยุงกัด ลองใช้ด้านในของเปลือกกล้วยทาบริเวณที่ถูกยุงกัด มีหลายคนพบอย่าง มหัศจรรย์ว่า เปลือกกล้วยสามารถแก้เม็ดผื่นคันที่เกิดจากยุงกัดได้
10. ระบบประสาท ในกล้วยมีวิตามินบี สูงมาก ช่วยทำให้ระบบประสาทสงบลงได้ โรคน้ำหนักเกินและโรคที่ เกิดในที่ทำงาน จากการศึกษาของสถาบันจิตวิทยาในออสเตรียค้นพบว่า ความกดดันในที่ทำงานเป็นเหตุนำไปสู่ การกินอย่างจุบจิบ เช่น อาหารพวกช็อคโกแล็ต และอาหารประเภททอดกรอบต่าง ๆ ในจำนวนคนไข้ 5,000 คน ในโรงพยาบายต่าง ๆ นักวิจัยพบว่า ส่วนใหญ่เป็นโรคอ้วนมากเกินไป และส่วนใหญ่ทำงานภายใต้ความกดดันสูง มาก จากรายงานสรุปว่า เพื่อหลีกเลี่ยงการตื่นตระหนกและนำไปสู่การกินอาหารอย่างบ้าคลั่ง เราจึงต้องควบคุม ปริมาณน้ำตาลในเส้นเลือด ด้วยการกินอาหารว่างที่มีปริมาณคาร์โบโฮเดรตสูง เช่น กินกล้วยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อรักษาปริมาณน้ำตาลให้คงที่ตลอดเวลา ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่อยยา การกินกล้วยที่มีวิตามินบี 6 ซึ่งประกอบด้วย สารควบคุมระดับกลูโคสที่สามารถมีผลต่ออารมณ์ได้
11. โรคลำไส้เป็นแผล กล้วยเป็นอาหารที่แพทย์ใช้ควบคุม เพื่อต้านทานการเกิดโรคลำไส้เป็นแผล เพราะ เนื้อของกล้วยมีความอ่อนนิ่มพอดี เป็นผลไม้ชนิดเดียวที่ทานได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องโรค ลำไส้เรื้อรัง และกล้วยยังมีสภาพเป็นกลางไม่เป็นกรด ทำให้ลดการระคายเคือง และยังไปเคลือบผนังลำไส้และ กระเพาะอาหารด้วย
12. การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ในวัฒนธรรมของหลายแห่งเห็นว่ากล้วย คือผลไม้ที่สามารถทำให้ อุณหภูมิเย็นลงได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะอุณหภูมิของอารมณ์ของคนที่เป็นแม่ที่ชอบคาดหวัง ตัวอย่างในประเทศไทย จะให้ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์รับประทานกล้วยทุกวันเพื่อให้แน่ใจว่า ทารกที่เกิดมา จะมีอุณหภูมิเย็น